วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

การสื่อสารเพื่อการเรียนการสอน


การสื่อสารเพื่อการเรียนการสอน
ความหมายและองค์ประกอบของการสื่อสาร
           การสื่อสาร (Communication) หมายถึง กระบวนการส่งข่าวสารข้อมูลจากผู้ส่งข่าวสารไปยังผู้รับข่าวสาร มีวัตถุประสงค์เพื่อชักจูงให้ผู้รับข่าวสารมีปฏิกริยาตอบสนองกลับมา โดยคาดหวังให้เป็นไปตามที่ผู้ส่งต้องการ
องค์ประกอบของการสื่อสาร ประกอบด้วย
                     1. ผู้ส่งข่าวสาร (Sender)
                     2. ข้อมูลข่าวสาร (Message)
                     3. สื่อในช่องทางการสื่อสาร (Media)
                     4. ผู้รับข่าวสาร (Receivers)
                     5. ความเข้าใจและการตอบสนอง
กระบวนการสื่อสาร
                      กระบวนการสื่อสาร (Communication Process) โดยทั่วไปเริ่มต้นจากผู้ส่งข่าวสาร (Sender) ทำหน้าที่เก็บรวบรวม แนวความคิดหรือข้อมูล จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เมื่อต้องการส่งข่าวไปยังผู้รับข่าวสาร ก็จะแปลงแนวความคิดหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องออกมาเป็น ตัวอักษร น้ำเสียง สี การเคลื่อนไหว ฯลฯ ซึ่งเรียกว่าข่าวสาร (Massage) จะได้รับการใส่รหัส(Encoding) แล้วส่งไปยังผู้รับข่าวสาร (Receivers) ผ่านสื่อกลาง (Media) ในช่องทางการสื่อสาร (Communication Channels)ประเภทต่าง ๆ หรืออาจจะถูกส่งจากผู้ส่งข่าวสารไปยังผู้รับข่าวสารโดยตรงก็ได้ ผู้รับข่าวสาร เมื่อได้รับข่าวสารแล้วจะถอดรหัส (Decoding) ตามความเข้าใจและประสบการณ์ในอดีต หรือสภาพแวดล้อมในขณะนั้น และมีปฏิกริยาตอบสนองกลับไปยังผู้ส่งข่าวสารซึ่งอยู่ในรูปขอความรู้ ความเข้าใจ การตอบรับ การปฏิเสธหรือการนิ่งเงียงก็เป็นได้ ทั้งนี้ข่าวสาร ที่ถูกส่งจากผู้ส่งข่าวสารอาจจะไม่ถึงผู้รับข่าวสารทั้งหมดก็เป็นได้ หรือข่าวสารอาจถูกบิดเบือนไปเพราะในกระบวนการ สื่อสาร ย่อมมีโอกาสเกิดสิ่งรบกวน หรือตัวแทรกแซง(Noise or Interferes) ได้ ทุกขั้นตอนของการสื่อสาร
คุณลักษณะของผู้ประสบความสำเร็จในการสื่อสาร
                      1. มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ
                      2. มีทักษะในการสื่อสาร
                      3. เป็นคนช่างสังเกต เรียนรู้ได้เร็ว และมีความจำดี
                      4. มีความซื่อตรง มีความกล้าที่จะกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง
                      5. มีความคิดสุขุม รอบคอบ
                      6. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
                      7. คิดและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
                      8. มีความสามารถแยกแยะและจัดระเบียบข่าวสารต่าง ๆ
                      9. มีความสามารถในการเขียนได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
                      10. มีศิลปะและเทคนิคการจูงใจคน
                      11. รู้ขั้นตอนการทำงาน
                      12. มีมนุษยสัมพันธ์ดี
ความหมายของการสื่อสาร
ความรู้พื้นฐานเรื่องการสื่อสาร
                         การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต  มนุษย์จำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกันอยู่ตลอดเวลา  การสื่อสารจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งนอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์  การสื่อสารมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์มาก   การสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยุคโลกาภิวัตน์ เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร  การสื่อสารมีประโยชน์ทั้งในแง่บุคคลและสังคม การสื่อสารทำให้คนมีความรู้และโลกทัศน์ที่กว้างขวางขึ้น   การสื่อสารเป็นกระบวนการที่ทำให้สังคม เจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง   ทำให้มนุษย์สามารถสืบทอดพัฒนา เรียนรู้ และรับรู้วัฒนธรรมของตนเองและสังคมได้  การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ  สร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าแก่ชุมชน และสังคมในทุกด้าน               
ความหมายของการสื่อสาร
                     คำว่า  การสื่อสาร (communications)  มีที่มาจากรากศัพท์ภาษาลาตินว่า  communis หมายถึง  ความเหมือนกันหรือร่วมกัน   การสื่อสาร (communication)    หมายถึงกระบวนการถ่ายทอดข่าวสาร  ข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์  ความรู้สึก ความคิดเห็น ความต้องการจากผู้ส่งสารโดยผ่านสื่อต่าง ๆ ที่อาจเป็นการพูด การเขียน สัญลักษณ์อื่นใด การแสดงหรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ไปยังผู้รับสาร ซึ่งอาจจะใช้กระบวนการสื่อสารที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม หรือความจำเป็นของตนเองและคู่สื่อสาร  โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการรับรู้ร่วมกันและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกัน  บริบททางการสื่อสารที่เหมาะสมเป็น ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การสื่อสารสัมฤทธิ์ผล
ความสำคัญของการสื่อสาร
                    ดังนั้นจะเห็นได้ว่า  การสื่อสารมีความสำคัญและเป็นพื้นฐานของการมีปฏิกิริยาของมนุษย์ มนุษย์เราจึงศึกษาว่า มีอะไรเกิดขึ้นบ้างเมื่อมีการกระทำทางการสื่อสาร หรือในกระบวนการสื่อสารมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ในองค์ประกอบเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร  ดังนั้นทฤษฎีจะช่วยทำหน้าที่เป็นตัวเปรียบเทียบกับสิ่งที่กำลังศึกษา  เพื่อสร้างความเข้าใจให้แจ่มชัดขึ้น
                    โดยสรุปการสื่อสารนั้นจัดได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งในชีวิตของมนุษย์ นอกเหนือจากปัจจัยสี่ที่มีความจำเป็นต่อความอยู่รอดของมนุษย์  ซึ่งได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัยเครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค   แม้ว่าการสื่อสารจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นความตายของมนุษย์เหมือนกับปัจจัยสี่ แต่การที่จะให้ได้มาซึ่งปัจจัยสี่เหล่านั้น   ย่อมต้องอาศัยการสื่อสารเป็นเครื่องมืออย่างแน่นอน มนุษย์ต้องอาศัยการสื่อสารเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ของตน และเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคมการสื่อสารเป็นพื้นฐานของการติดต่อของมนุษย์    และเป็นเครื่องมือสำคัญของกระบวนการสังคม ยิ่งสังคมมีความสลับซับซ้อนมาก และประกอบด้วยคนจำนวนมากขึ้นเท่าใด การสื่อสารก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น  ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ   อุตสาหกรรมและสังคม จะนำมาซึ่งความสลับซับซ้อน หรือความสับสนต่าง ๆ     จนอาจก่อให้เกิดความไม่เข้าใจและไม่แน่ใจแก่สมาชิกของสังคม  ดังนั้นจึงต้องอาศัยการสื่อสารเป็นเครื่องมือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
หากจะพิจารณาถึงความสำคัญของการสื่อสารที่มีต่อมนุษย์แล้วสามารถแบ่งได้เป็น 5 ประการคือ
                    1.  ความสำคัญต่อความเป็นสังคม การที่มนุษย์อยู่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นสังคม ตั้งแต่สังคมระดับเล็กคือ ครอบครัว ชุมชนเผ่าพันธุ์  ไปจนถึงการรวมตัวเป็นสังคมขนาดใหญ่ในระดับประเทศนั้น จำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารเป็นพื้นฐาน   เพราะการสื่อสารทำให้เกิดความเข้าใจ และทำความตกลงกันได้ มีการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างระเบียบของสังคมให้เป็นที่ยอมรับระหว่างสมาชิก ทั้งนี้เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขเป็นสังคม    กล่าวคือ การมีสังคมมนุษย์ต้องอาศัยการสื่อสาร สังคมมนุษย์เกิดจากการใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือในการจะรวมคนหลาย ๆ คนให้มาอยู่รวมกัน
                           2.  ความสำคัญต่อชีวิตประจำวัน การสื่อสารมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเราเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าตลอดเวลาที่เราตื่น เราจะทำการสื่อสารอยู่ตลอดเวลา การสื่อสารไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคล การสื่อสารกลุ่มใหญ่ การสื่อสารด้วยคำพูด การสื่อสารด้วยตัวหนังสือ การสื่อสารด้วยกิริยาท่าทางและการสื่อสารมวลชนกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราทำประจำวันนั้น มีการสื่อสารเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ    ไม่เว้นแม้กระทั่งเวลาเรานอนหลับอยู่  หากเราฝันหรือละเมอเรื่องใดก็ตามนั่นก็ถือว่าเป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่งคือ การสื่อสารภายในตัวบุคคล (Intrapersonal Communication)
                    3.  ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจ ปัจจุบันวงการอุตสาหกรรม  มีการปฏิวัติทางด้านเทคโนโลยีการผลิต ตลอดจนการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน  ทำให้ต้องอาศัยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งถือเป็นองค์กรหรือสถาบันที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและประชาชนในทางตรงข้ามลูกจ้างของสถาบันเองก็จะมีการรวมตัวกันเป็นองค์การในรูปของสหภาพแรงงาน   เพื่อให้มีพลังต่อรองแสดงความต้องการของตนและชี้ข้อบกพร่องของฝ่ายบริหาร นอกจากนั้นโรงงานอุตสาหกรรมยังเกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกฝ่ายต่าง ๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งของโรงงาน ผู้บริโภคสินค้า เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ฯลฯ ฉะนั้น การดำเนินงานหรือการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงงานอุตสาหกรรมย่อมมีผลกระทบต่อบุคคลเหล่านี้ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม นอกจากนั้นสิ่งหนึ่งที่องค์กรต้องการก็คือ ความสนับสนุนและความร่วมมือจากบุคคลเหล่านั้น โดยองค์กรจะต้องสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลเหล่านี้   ด้วยการใช้วิธีกิจการด้านสื่อสารที่เรียกว่า "การประชาสัมพันธ์" (Publicrelations) ในการเผยแพร่ข่าวสารเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง  และยังสามารถตรวจสอบประชามติหรือความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่มีต่อองค์กรด้วย
                           4.  ความสำคัญต่อการปกครอง   ไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบอบใดหรือการปกครองระดับใด คือตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ ย่อมจะมีทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองหรือประชาชน  ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายจำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารเป็นเครื่องมือหรือกลไกที่สำคัญที่จะทำให้สังคมเจริญก้าวหน้าและประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการปกครองของรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องเผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจ    จะได้เกิดความร่วมมือและปฏิบัติตามนโยบายตลอดจนกฎเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ นอกจากการเผยแพร่ข่าวสารแล้ว รัฐบาลยังจำเป็นที่จะต้องรับทราบความรู้สึกนึกคิด ความต้องการหรือประชามติของประชาชนด้วย   เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลให้สอดคล้องกับประชามติในกรณีของการปกครองระบอบประชาธิปไตย   หรือนำไปใช้ควบคุมประชามติของประชาชนไม่ให้เบี่ยงเบนหรือต่อต้านนโยบายของรัฐบาลในกรณีของการปกครองระบอบเผด็จการ      
                     5.  ความสำคัญต่อการเมืองระหว่างประเทศ      ในวงการเมืองระหว่างประเทศก็เช่นกัน ที่จำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารเข้ามาเป็นปัจจัยที่สำคัญ  คือ พัฒนาการของเทคโนโลยีทางการสื่อสารต่าง ๆ   สามารถช่วยทำให้ประเทศต่าง ๆ      ทั่วโลกติดต่อแลกเปลี่ยนข่าวสารและความคิดกันได้สะดวกและรวดเร็ว   ดังนั้น ด้วยเหตุผลทางด้านการสื่อสารที่เจริญก้าวหน้าขึ้นและเหตุผลทางด้านการเมือง จึงทำให้สังคมโลกปัจจุบันเป็นสังคมที่แคบ เพราะสามารถติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกนั่นเอง อนึ่งการติดต่อสื่อสาร หรือการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนโยบายการเมืองระหว่างประเทศต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบด้านการสื่อสารโดยตรง   เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับประเทศของตน สร้างความเข้าใจอันดีกับประเทศอื่น  ตลอดจนชักจูงให้ได้รับความสนับสนุนจากประเทศอื่น   และได้ศึกษาถึงความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในประเทศอื่นที่มีต่อประเทศของตน   หน่วยงานสำคัญที่รับผิดชอบด้านการสื่อสารของการเมืองระหว่างประเทศก็คือ กระทรวงการต่างประเทศ และสถานฑูตต่าง ๆ   ซึ่งจะเป็นผู้จัดการกับการสื่อสารให้เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะทางจิตใจ   สังคมและวัฒนธรรมของประชาชนชาติต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างไปจากประเทศของตน ทั้งนี้โดยอาศัยสื่อชนิดต่าง ๆ เช่น สถานีวิทยุ  VOA หรือ  Voice of America  ของสหรัฐอเมริกา  สถานีวิทยุ  BBC  ของประเทศอังกฤษ หนังสือพิมพ์เสรีภาพของสหรัฐอเมริกา หนังสือสหภาพโซเวียตของประเทศรัสเซีย เป็นต้น
องค์ประกอบของการสื่อสาร          
องค์ประกอบที่สำคัญของการสื่อสาร มี 4 ประการ ดังนี้
                         1.  ผู้ส่งสาร (sender) หรือ แหล่งสาร (source) หมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล หรือ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการส่งสาร หรือเป็นแหล่งกำเนิดสาร ที่เป็นผู้เริ่มต้นส่งสารด้วยการแปลสารนั้นให้อยู่ในรูปของสัญลักษณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นแทนความคิด ได้แก่ ภาษาและอากัปกิริยาต่าง ๆ เพื่อสื่อสารความคิด  ความรู้สึก ข่าวสาร ความต้องการและวัตถุประสงค์ของตนไปยังผู้รับสารด้วยวิธีการใด ๆ หรือส่งผ่านช่องทางใดก็ตาม   จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม    เช่น  ผู้พูด  ผู้เขียน  กวี  ศิลปิน นักจัดรายการวิทยุ  โฆษกรัฐบาล  องค์การ  สถาบัน  สถานีวิทยุกระจายเสียง  สถานีวิทยุโทรทัศน์   กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์  หน่วยงานของรัฐ  บริษัท  สถาบันสื่อมวลชน  เป็นต้น


คุณสมบัติของผู้ส่งสาร
                                1.  เป็นผู้ที่มีเจตนาแน่ชัดที่จะให้ผู้อื่นรับรู้จุดประสงค์ของตนในการส่งสาร แสดงความคิดเห็น หรือวิจารณ์ ฯลฯ
                                2.  เป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาของสารที่ต้องการจะสื่อออกไปเป็นอย่างดี          
                                3.  เป็นผู้ที่มีบุคลิกลักษณะที่ดี มีความน่าเชื่อถือ แคล่วคล่องเปิดเผยจริงใจ และมีความรับผิดชอบ  ในฐานะเป็นผู้ส่งสาร
                                4.  เป็นผู้ที่สามารถเข้าใจความพร้อมและความสามารถในการรับสารของผู้รับสาร
                                5.  เป็นผู้รู้จักเลือกใช้กลวิธีที่เหมาะสมในการส่งสารหรือนำเสนอสาร  
                         2.  สาร (message) หมายถึง  เรื่องราวที่มีความหมาย หรือสิ่งต่าง ๆ ที่อาจอยู่ในรูปของข้อมูล ความรู้ ความคิด ความต้องการ อารมณ์ ฯลฯ   ซึ่งถ่ายทอดจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสารให้ได้รับรู้ และแสดงออกมาโดยอาศัยภาษาหรือสัญลักษณ์ใด ๆ  ที่สามารถทำให้เกิดการรับรู้ร่วมกันได้  เช่น  ข้อความที่พูด   ข้อความที่เขียน   บทเพลงที่ร้อง  รูปที่วาด  เรื่องราวที่อ่าน  ท่าทางที่สื่อความหมาย  เป็นต้น
                                2.1  รหัสสาร (message code)ได้แก่ ภาษา สัญลักษณ์ หรือสัญญาณที่มนุษย์ใช้เพื่อแสดงออกแทนความรู้ ความคิด อารมณ์ หรือความรู้สึกต่าง ๆ 
                                2.2  เนื้อหาของสาร  (message content) หมายถึง บรรดาความรู้ ความคิดและประสบการณ์ที่ผู้ส่งสารต้องการจะถ่ายทอดเพื่อการรับรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนเพื่อความเข้าใจร่วมกันหรือโต้ตอบกัน
                                2.3  การจัดสาร (message treatment) หมายถึง การรวบรวมเนื้อหาของสาร แล้วนำมาเรียบเรียงให้เป็นไปอย่างมีระบบ   เพื่อให้ได้ใจความตามเนื้อหา ที่ต้องการด้วยการเลือก ใช้รหัสสารที่เหมาะสม
                         3.  สื่อ หรือช่องทาง (media or channel) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการสื่อสาร  หมายถึง  สิ่งที่เป็นพาหนะของสาร  ทำหน้าที่นำสารจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร   ผู้ส่งสารต้องอาศัยสื่อหรือช่องทางทำหน้าที่นำสารไปสู่ผู้รับสาร   

หลักในการสื่อสาร   
                         การสื่อสารจะประสบความสำเร็จตรงตามจุดประสงค์หรือไม่ผู้ส่งสารควรคำนึงถึงหลักการสื่อสาร ดังนี้  (ภาควิชาภาษาไทย สถาบันราชภัฏเทพสตรี ลพบรี, 2542: 13-14)
                         1.  ผู้ที่จะสื่อสารให้ได้ผลและเกิดประโยชน์ จะต้องทำความเข้าใจเรื่ององค์ประกอบในการสื่อสาร และปัจจัยทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับระบบการรับรู้ การคิด การเรียนรู้ การจำ ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพ ในการสื่อสาร
                         2.  ผู้ที่จะสื่อสารต้องคำนึงถึงบริบทในการสื่อสาร บริบทในการสื่อสาร หมายถึง สิ่งที่อยู่แวดล้อมที่มีส่วนในการกำหนดรู้ความหมายหรือความเข้าใจในการสื่อสาร
                         3.  คำนึงถึงกรอบแห่งการอ้างอิง (frame of reference) มนุษย์ทุกคนจะมีพื้นความรู้ทักษะ เจตคติ ค่านิยม สังคม ประสบการณ์ ฯลฯ เรียกว่าภูมิหลังแตกต่างกัน ถ้าคู่สื่อสารใดมีกรอบแห่ง  การอ้างอิงคล้ายกัน   ใกล้เคียงกัน จะทำให้การสื่อสารง่ายขึ้น
                         4.  การสื่อสารจะมีประสิทธิผล เมื่อผู้ส่งสารส่งสารอย่างมีวัตถุประสงค์ชัดเจน ผ่านสื่อหรือช่องทาง  ที่เหมาะสม ถึงผู้รับสารที่มีทักษะในการสื่อสารและมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกัน
                         5.  ผู้ส่งสารและผู้รับสาร ควรเตรียมตัวและเตรียมการล่วงหน้า เพราะจะทำให้การสื่อสารราบรื่น สะดวก รวดเร็ว เป็นไปตามวัตถุประสงค์และสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที หากจะเกิดอุปสรรค์ ที่จุดใดจุดหนึ่ง
                         6.  คำนึงถึงการใช้ทักษะ เพราะภาษาเป็นสัญลักษณ์ที่มนุษย์ตกลงใช้ร่วมกันในการ  สื่อความหมาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจในการสื่อสาร คู่สื่อสารต้องศึกษาเรื่องการใช้ภาษา และสามารถใช้ภาษาให้เหมาะสมกับกาลเทศะ บุคคล เนื้อหาของสาร และช่องทางหรือสื่อ ที่ใช้ในการสื่อสาร
                         7.  คำนึงถึงปฏิกิริยาตอบกลับตลอดเวลา ถือเป็นการประเมินผลการสื่อสาร ที่จะทำให้คู่สื่อสารรับรู้ผลของการสื่อสารว่าประสบผลดีตรงตามวัตถุหรือไม่ ควรปรับปรุง เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขข้อบกพร่องใด เพื่อที่จะทำให้การสื่อสารเกิดผลตามที่ต้องการ

วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร
                   คณาจารย์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (2551: 17)  กล่าวถึง วัตถุประสงค์ของการสื่อสารไว้ดังนี้
                         1.  เพื่อแจ้งให้ทราบ (inform)  ในการทำการสื่อสาร  ผู้ทำการสื่อสารควรมีความ ต้องการที่จะบอกกล่าวหรือชี้แจงข่าวสาร  เรื่องราว  เหตุการณ์ หรือสิ่งอื่นใดให้ผู้รับสารได้รับทราบ            
                        2.  เพื่อสอนหรือให้การศึกษา (teach or education)  ผู้ทำการสื่อสารอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อจะ ถ่ายทอดวิชาความรู้  หรือเรื่องราวเชิงวิชาการ  เพื่อให้ผู้รับสารได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น
                        3.  เพื่อสร้างความพอใจหรือให้ความบันเทิง (please of entertain)  ผู้ทำการสื่อสารอาจ ใช้วัตถุประสงค์ในการสื่อสารเพื่อสร้างความพอใจ  หรือให้ความบันเทิงแก่ผู้รับสาร  โดยอาศัยสารที่ตนเองส่งออกไป  ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการพูด การเขียน  หรือการแสดงกิริยาต่าง ๆ
                         4.  เพื่อเสนอหรือชักจูงใจ (Propose or persuade) ผู้ทำการสื่อสารอาจใช้วัตถุประสงค์ใน การสื่อสารเพื่อให้ข้อเสนอแนะ  หรือชักจูงใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่อผู้รับสาร  และอาจชักจูงใจให้ผู้รับสารมีความคิดคล้อยตาม  หรือยอมปฏิบัติตามการเสนอแนะของตน
                        5.  เพื่อเรียนรู้ (learn) วัตถุประสงค์นี้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้รับสาร  การแสวงหาความรู้ ของผู้รับสาร โดยอาศัยลักษณะของสาร  ในกรณีนี้มักจะเป็นสารที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับวิชาความรู้  เป็นการหาความรู้เพิ่มเติมและเป็นการทำความเข้าใจกับเนื้อหาของสารที่ผู้ทำการสื่อสารถ่ายทอดมาถึงตน
                       6.  เพื่อกระทำหรือตัดสินใจ (dispose or decide)  ในการดำเนินชีวิตของคนเรามี สิ่งหนึ่งที่ต้องกระทำ อยู่เสมอก็คือ  การตัดสินใจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง  ซึ่งการตัดสินใจ นั้นอาจได้รับการเสนอแนะ  หรือชักจูงใจให้กระทำอย่างนั้นอย่างนี้จากบุคคลอื่นอยู่เสมอ  ทางเลือกในการ ตัดสินใจของเราจึงขึ้นอยู่กับข้อเสนอแนะนั้น



อุปสรรคในการสื่อสาร         
                         อุปสรรคในการสื่อสาร หมายถึง สิ่งที่ทำให้การสื่อสารไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ ของผู้สื่อสาร และผู้รับสาร   อุปสรรคในการสื่อสารอาจเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอนของกระบวนการสื่อสาร ดังนั้นอุปสรรค ในการสื่อสารจากองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้
                         1.  อุปสรรคที่เกิดจากผู้ส่งสาร
                          1.1  ผู้ส่งสารขาดความรู้ความเข้าใจและข้อมูลเกี่ยวกับสารที่ต้องการจะสื่อ
                          1.2  ผู้ส่งสารใช้วิธีการถ่ายทอดและการนำเสนอที่ไม่เหมาะสม
                          1.3  ผู้ส่งสารไม่มีบุคลิกภาพที่ไม่ดี และไม่เหมาะสม
                          1.4  ผู้ส่งสารมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการส่งสาร
                          1.5  ผู้ส่งสารขาดความพร้อมในการส่งสาร
                          1.6  ผู้ส่งสารมีความบกพร่องในการวิเคราะห์ผู้รับสาร
                         2.  อุปสรรคที่เกิดจากสาร
                          2.1  สารไม่เหมาะสมกับผู้รับสาร อาจยากหรือง่ายเกินไป
                          2.2  สารขาดการจัดลำดับที่ดี สลับซับซ้อน ขาดความชัดเจน
                          2.3  สารมีรูปแบบแปลกใหม่ยากต่อความเข้าใจ
                          2.4  สารที่ใช้ภาษาคลุมเครือ ขาดความชัดเจน
                         3.  อุปสรรคที่เกิดขึ้นจากสื่อ หรือช่องทาง
                          3.1  การใช้สื่อไม่เหมาะสมกับสารที่ต้องการนำเสนอ
                          3.2  การใช้สื่อที่ไม่มีประสิทธิภาพที่ดี
                          3.3  การใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมกับระดับของการสื่อสาร
                         4.  อุปสรรคที่เกิดจากผู้รับสาร
                            4.1  ขาดความรู้ในสารที่จะรับ
                          4.2  ขาดความพร้อมที่จะรับสาร
                          4.3  ผู้รับสารมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้ส่งสาร
                          4.4  ผู้รับสารมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสาร
                          4.5  ผู้รับสารมีความคาดหวังในการสื่อสารสูงเกินไป
การสื่อสารกับการศึกษา
                         การเรียนการสอน เป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่ง มีทั้งผู้ส่งสาร อันได้แก่ครูผู้สอน มีสาร คือความรู้หรือประสบการณ์ที่จัดขึ้น ผู้รับสารคือ ผู้เรียน มีกระบวนการเรียนการสอนประกอบด้วยเครื่องมือ สื่อการเรียนการสอนต่างๆ ภายใต้สถานการณ์ที่จัดขึ้นในห้องเรียน หรือสถานการณ์ที่จัดขึ้นในสถานที่อื่น และมีจุดหมายของหลักสูตรเป็นเครื่องนำทาง
                         จุดมุ่งหมายของการสื่อสารในการเรียนการสอน คือการพยายามสร้างความเข้าใจ ทักษะ ความรู้ ความคิดต่างๆ ร่วมกัน ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ความสำเร็จของการเรียนการสอน พิจารณาได้จากพฤติกรรมของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไปตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้แต่ต้น ตามลักษณะการเรียนรู้นั้นๆ ปัญหาสำคัญของการสื่อสารในการเรียนการสอนคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างความเข้าใจระหว่างครูกับนักเรียนได้อย่างถูกต้อง ครูผู้สอนจะต้องมีความรู้ความสามารถ มีทักษะในการสื่อสาร และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับครู คือการใช้สื่อการเรียนการสอนต่างๆ อย่างเหมาะสม นอกเหนือการใช้คำพูดของครูแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เพราะสื่อหรือโสตทัศนูปกรณ์ มีคุณลักษณะพิเศษบางประการที่ไม่มีในตัวบุคคล คือ
                         1.   จับยึดประสบการณ์ เหตุการณ์ กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น สามารถใช้สื่อต่างๆ บันทึกไว้เพื่อนำมาศึกษาได้อย่างกว้างขวาง เช่น การบันทึกภาพ บันทึกเสียง การพิมพ์ ฯลฯ
                         2.   ดัดแปลงปรุงแต่ง เพื่อทำสิ่งที่เข้าใจยาก ให้อยู่ในลักษณะที่ศึกษาเข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น การย่อส่วน ขยายส่วน ทำให้ช้าลง ทำให้เร็วขึ้น จากไกลทำให้ดูใกล้ จากสิ่งที่มีความซับซ้อนสามารถแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนขึ้น
                         3.   ขยายจ่ายแจก ทำสำเนา หรือเผยแพร่ได้จำนวนมาก เช่น รายการวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ภาพถ่าย จึงช่วยให้ความรู้ต่างๆ เข้าถึงผู้รับได้เป็นจำนวนมากพร้อมกัน
พัฒนาการของการสื่อสาร
                         การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของโลก นับตั้งแต่มนุษย์ได้มีการรวมกลุ่มกันเป็นสังคมขนาดใหญ่นั้น อาจแบ่งออกเป็น 3 ยุค ที่สำคัญตามลำดับ คือ เริ่มแรกเป็นยุคของเกษตรกรรม ต่อมาเปลี่ยนแปลงเป็นยุคอุตสาหกรรม และถึงปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็นยุคของการสื่อสาร
                         เหตุที่ยุคปัจจุบันได้รับการเรียกขานว่าเป็นยุคของการสื่อสาร เพราะเป็นยุคที่เทคโนโลยีด้านการสื่อสารข้อมูลต่างๆ มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมาก และอัตราความเจริญเป็นไปอย่างรวดเร็ว หลายอย่างแทบไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์จะสามารถคิดค้นขึ้นมาได้ในศตวรรษนี้ ความเจริญก้าวหน้าของการสื่อสารดังกล่าว ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้นั้น ย่อมจะมีพัฒนาการมายาวนาน พร้อมกับการเกิดขึ้นของสังคมมนุษย์ตั้งแต่ยุคโบราณ
การสื่อสารในยุคโบราณ
                         การสื่อสารในยุคโบราณ เป็นการสื่อสารอย่างง่ายตามธรรมชาติของการดำเนินชีวิตในสมัยนั้น แม้ว่าการใช้ภาษาหรือรหัสสัญญาณในการสื่อสารจะอยู่ในขอบเขตจำกัด แต่ก็สามารถสื่อสารกันได้ผลดี เพราะผู้คนมีจำนวนน้อย การสื่อสารจึงไม่ซับซ้อน และมนุษย์เองก็มีนิสัยชอบบอกกล่าวถึงสิ่งที่ตนค้นพบ หรือเห็นว่าน่าสนใจให้คนอื่นได้ทราบอยู่แล้ว นอกจากการบอกกล่าวโดยการสื่อสารอย่างง่าย ด้วยคำพูดหรือภาษาท่าทางแล้ว ภาพเขียนโบราณตามผนังถ้ำ เป็นหลักฐานสำคัญอันหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นความพยายามที่จะสื่อความหมายของมนุษย์ ไม่ว่าภาพหรือรอยขีดเขียนเหล่านั้น จะขีดเขียนเพื่อความเพลิดเพลิน หรือเขียนขึ้นเพื่อบอกกล่าวให้ผู้อื่น โดยเฉพาะคนรุ่นหลังได้ทราบก็ตาม ย่อมมีคุณค่าในแง่การสื่อสารเสมอ การสื่อสารในยุคนี้ เป็นการสื่อสารกลุ่มย่อยเท่านั้น เชื่อว่ายังไม่มีการสื่อสารแบบมวลชนเกิดขึ้น
การสื่อสารในยุคเกษตรกรรม
                         ในยุคนี้เกิดการรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีหัวหน้าหรือกษัตริย์ผู้ปกครอง พัฒนาการทางด้านความรู้ ความคิด การเมืองการปกครอง ทำให้จำเป็นต้องคิดค้นภาษา หรือสัญลักษณ์เพื่อใช้ในการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การสื่อสารจึงมีความซับซ้อนขึ้นตามไปด้วย เริ่มจากการสื่อสารด้วยการเขียนภาพเหมือนของจริงในสมัยโบราณ กลายมาเป็นอักษรภาพ และตัวอักษรที่มีลักษณะเป็นนามธรรมขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการค้นพบกรรมวิธีทางการพิมพ์ยิ่งเป็นการช่วยสนับสนุนให้เกิดการบันทึกและเผยแพร่ความรู้ข่าวสารต่างๆ มากขึ้นเป็นลำดับ มีความพยายามที่จะติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข่าวสาร ศิลปวัฒนธรรมระหว่างชุมชน เมื่อมีการอยู่รวมกันเป็นชุมชนขนาดใหญ่ การสื่อสารแบบมวลชนจึงเกิดขึ้น
การสื่อสารในยุคอุตสาหกรรม
                         เนื่องจากประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้น มีการติดต่อค้าขายระหว่างกลุ่มชนประกอบกับมีการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ เช่น การไฟฟ้าอิเลคทรอนิคส์ เครื่องจักรทุ่นแรง เป็นเหตุผลักดันให้ต้องแสวงหากรรมวิธีในการผลิตสินค้า ให้เพียงพอต่อความต้องการ เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างขนานใหญ่ โดยเริ่มจากประเทศในยุโรป และขยายไปทั่วโลกในเวลาต่อมา จากสังคมเกษตรกรรม กลายเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนขึ้น ผู้คนทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้ได้ผลผลิตมากๆ เมื่อสังคมมีความซับซ้อน การสื่อสารก็มีความซับซ้อนตามไปด้วย การสื่อสารแบบมวลชนมีความสำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในยุคนี้พัฒนาการของเครื่องมือการสื่อสาร ไฟฟ้า โทรเลข วิทยุ โทรทัศน์ และความก้าวหน้าทางการพิมพ์ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ส่งเสริมให้การสื่อสารทั้งระหว่างบุคคลและการสื่อสารแบบมวลชนขยายตัวอย่างกว้างขวาง
การสื่อสารในยุคปัจจุบัน
                         ปัจจุบันได้ชื่อว่า เป็นยุคของการสื่อสารอย่างแท้จริง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทุกๆ ด้าน ทำให้การสื่อสารกลายเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมาก สภาพของสังคมปัจจุบัน ทั้งในระดับชุมชน ระดับประเทศหรือระดับโลก เกิดการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ การแก่งแย่งทางการค้า จากอดีตที่เคยทำสงครามรบพุ่งฆ่าฟันกันด้วยอาวุธ เพื่อครอบครองดินแดน และหาแหล่งทรัพยากร กลายมาเป็นการทำสงครามทางการค้า และสงครามทางวัฒนธรรม สภาพของสังคมเช่นนี้ ผู้ที่ทราบหรือครอบครองข่าวสารข้อมูลมากกว่า ย่อมเป็นผู้ได้เปรียบ ข่าวสารข้อมูลต่างๆ ย่อมได้มาโดยวิธีการของการสื่อสาร ซึ่งนับว่าปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างยิ่ง ทั้งในด้านเทคนิควิธีการ และเครื่องมือสื่อสารอันทันสมัย เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง และใช้งานได้อย่างหลากหลาย การสื่อสารทางไกล ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ ไม่เพียงเฉพาะการสื่อสารระหว่างอำเภอ จังหวัด หรือระหว่างประเทศ ข้ามทวีปเท่านั้น ปัจจุบันเราสามารถสื่อสารได้ถึงระดับดวงดาว ทั้งภาพ และเสียง
ประเภทของการสื่อสาร
                         นักวิชาการด้านการสื่อสารมวลชน ได้จำแนกประเภทของการสื่อสารไว้แตกต่างกันหลายลักษณะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการจำแนก (ปรมะ สตะเวทิน 2526 : 18 - 48 )
                         ในที่นี้จะแสดงการจำแนกประเภทของการสื่อสาร โดยอาศัยเกณฑ์ในการจำแนกที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1. จำแนกตามกระบวนการหรือการไหลของข่าวสาร 2. จำแนกตามภาษาสัญลักษณ์ที่แสดงออก 3. จำแนกตามจำนวนผู้สื่อสาร
1.      จำแนกตามกระบวนการหรือการไหลของข่าวสาร แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
                         1.1 การสื่อสารทางเดียว (One-Way Communication) คือการสื่อสารที่ข่าวสารจะถูกส่งจากผู้ส่งไปยังผู้รับในทิศทางเดียว โดยไม่มีการตอบโต้กลับจากฝ่ายผู้รับ เช่น การสื่อสารผ่านสื่อ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ การออกคำสั่งหรือมอบหมายงานโดย ฝ่ายผู้รับไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ซึ่งผู้รับอาจไม่เข้าใจข่าวสาร หรือเข้าใจไม่ถูกต้องตามเจตนาของผู้ส่งและทางฝ่ายผู้ส่งเมื่อไม่ทราบปฏิกิริยาของผู้รับจึงไม่อาจปรับการสื่อสารให้เหมาะสมได้ การสื่อสารแบบนี้สามารถทำได้รวดเร็วจึงเหมาะสำหรับการสื่อสารในเรื่องที่เข้าใจง่าย
                         ในสถานการณ์ของการสื่อสารบางอย่าง มีความจำเป็นต้องใช้การสื่อสารทางเดียว แม้ว่าเรื่องราวที่สื่อสารจะมีความซับซ้อนก็ตาม เช่น กรณีผู้รับและผู้ส่งไม่อาจพบปะ หรือติดต่อสื่อสารกันได้โดยตรง การสื่อสารแบบกลุ่มใหญ่ และการสื่อสารมวลชนซึ่งไม่อาจทราบผู้รับที่แน่นอน
                         1.2 การสื่อสารสองทาง (Two-way Communication) คือการสื่อสารที่มีการส่งข่าวสารตอบกลับไปมาระหว่างผู้สื่อสาร ดังนั้นผู้สื่อสารแต่ละฝ่ายจึงเป็นทั้งผู้ส่งและผู้รับในขณะเดียวกัน ผู้สื่อสารมีโอกาสทราบปฏิกิริยาตอบสนองระหว่างกัน ทำให้ทราบผลของการสื่อสารว่าบรรลุจุดประสงค์หรือไม่ และช่วยให้สามารถปรับพฤติกรรมในการสื่อสารให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ตัวอย่างการสื่อสารแบบสองทาง เช่น การพบปะพูดคุยกัน การพูดโทรศัพท์ การออกคำสั่งหรือมอบหมายงานโดยฝ่ายรับมีโอกาสแสดงความคิดเห็น การสื่อสารแบบนี้จึงมีโอกาสประสบผลสำเร็จได้มากกว่า แต่ถ้าเรื่องราวที่จะสื่อสารเป็นเรื่องง่าย อาจทำให้เสียเวลาโดยไม่จำเป็น
                         ในสถานการณ์ของการสื่อสารบางอย่าง เช่น ในการสื่อสารมวลชน ซึ่งโดยปกติมีลักษณะเป็นการสื่อสารทางเดียว นักสื่อสารมวลชนก็มีความพยายามที่จะทำให้มีการสื่อสาร 2 ทางเกิดขึ้น โดยการให้ประชาชนส่งจดหมาย โทรศัพท์ ตอบแบบสอบถาม กลับไปยังองค์กรสื่อมวลชน เพื่อนำผลไปปรับปรุงการสื่อสารให้บรรลุผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
2.      จำแนกตามภาษาสัญลักษณ์ที่แสดงออก แบ่งเป็น
                         2.1 การสื่อสารเชิงวัจนะ (Verbal Communication) หมายถึงการสื่อสารด้วยการใช้ภาษาพูด หรือเขียนเป็นคำพูด ในการสื่อสาร
                         2.2 การสื่อสารเชิงอวัจนะ (Non-Verbal Communication) หมายถึงการสื่อสารโดยใช้รหัสสัญญาณอย่างอื่น เช่น ภาษาท่าทาง การแสดงออกทางใบหน้า สายตา ตลอดจนถึงน้ำเสียง ระดับเสียง ความเร็วในการพูด เป็นต้น (ปรมะ สตะเวทิน 2529 : 31)
3.      จำแนกตามจำนวนผู้สื่อสาร
                         กิจกรรมต่างๆ ของบุคคลและสังคม ถือว่าเป็นผลมาจากการสื่อสารทั้งสิ้น ดังนั้นการสื่อสารจึงมีขอบข่ายครอบคลุมลักษณะการสื่อสารของมนุษย์ 3 ลักษณะคือ (อรุณีประภา หอมเศรษฐี 2530 : 49-90)
                         3.1  การสื่อสารส่วนบุคคล (Intrapersonal Communication)
                         3.2  การสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Communication)
                         3.3  การสื่อสารมวลชน (Mass Communication)
การสื่อสารส่วนบุคคล
                         หมายถึง การคิด การตัดสินใจของบุคคล คนใดคนหนึ่ง ที่จะแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในตัวบุคคล ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การสื่อสารส่วนบุคคล เป็นพื้นฐานของการติดต่อกับผู้อื่น ทั้งนี้เพราะการที่เราจะติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่นนั้น ในขั้นแรกจะต้องมีการเรียนรู้ หรือตัดสินใจในตนเองเสียก่อน และเมื่อใดก็ตามที่มีการติดต่อสื่อสารกับคนอื่น คนเราก็จะต้องสื่อสารกับตัวเองไปด้วยในขณะเดียวกัน การสื่อสารส่วนบุคคลเกิดขึ้นทันที ที่บุคคลมีการคิด ผลของการคิด นำไปสู่การตัดสินใจแสดงพฤติกรรมของคน การสื่อสารส่วนบุคคล จึงมีความสำคัญต่อการศึกษา ในเรื่องของการสื่อสาร ทั้งนี้เพราะเกี่ยวพันไปถึง ความรู้สึกนึกคิด ค่านิยม ซึ่งย่อมมีผลสะท้อนต่อบุคคลอื่นและสังคมด้วย
                         ลักษณะของการสื่อสารส่วนบุคคล อาจเป็นไปแบบของการปกปิด เช่น การคิด การพูด การเขียนที่ไม่มีเจตนาให้ผู้อื่นทราบ หรือเป็นแบบเปิดเผย แต่ไม่มีจุดประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น มีบุคคลเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่อยู่ในกระบวนการของการสื่อสาร จึงไม่อาจวัด หรือทราบความต้องการข่าวสารจากภายนอกได้
การรับสารในการสื่อสารส่วนบุคคล มีช่องทางการรับได้ 2 รูปแบบคือ
                         1. การรับสารเฉพาะตัว เช่น ความคิดคำนึง ความกลัว ที่เกิดขึ้น ภายในตัวเอง ซึ่งแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ และสภาพจิตใจของแต่ละบุคคล
                         2. การรับสารจากภายนอก เป็นการรับรู้สิ่งที่อยู่รอบตัว บุคคลทั่วไปมีประสบการณ์เหมือนกัน เช่น ความหอมของดอกไม้ ความเจ็บปวด ฯลฯ แต่ปฏิกิริยาตอบสนองอาจไม่เหมือนกัน
การสื่อสารระหว่างบุคคล
                         เป็นการสื่อความหมายของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เช่น การพูดคุย อภิปราย โต้วาที การประชุมสัมมนา การเรียนการสอน การสั่งงาน ตลอดจนการติดต่อสื่อสารอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน การสื่อสารลักษณะนี้ถือว่าเป็นการสื่อสารที่สมบูรณ์และมีโอกาสบรรลุจุดประสงค์ได้ดีที่สุด ผู้สื่อสารสามารถแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อกัน ความหมายของการสื่อสารโดยทั่วไป หมายถึงการสื่อสารประเภทนี้